วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

แก่นแท้ของพุทธธรรม (พระธรรมปิฎก ป. อ. ปยุตฺโต)

แก่นแท้ของพุทธธรรม คือความหลุดพ้นพึ่งตนได้ ในสังคมกัลยาณมิตร ผู้มีชีวิตที่เกื้อกูลกัน "แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา" นั้นมีอยู่ในพระสูตรหนึ่งชื่อว่า มหาสาโรปมสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้ตรัสเรื่องแก่นของพระพุทธศาสนาไว้ มีใจความตามพระสูตรนี้ว่า ชีวิตที่ประเสริฐ (พรหมจริยะ) คือตัวพระพุทธศาสนานี้ เปรียบได้กับต้นไม้ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ คือ

ลาภสักการะ >>>>>>>>>> เหมือนกิ่งไม้
ศีล >>>>>>>>>>>>>>>>> เหมือนสะเก็ดไม้
สมาธิ >>>>>>>>>>>>>>> เหมือนเปลือกไม้
ปํญญา>>>>>>>>>>>>>> เหมือนกับกระพี้ไม้
วิมุตติ (ความหลุดพ้น) >>> เป็นแก่น

ตรงนี้แหละมาถึงแก่นแท้ของพระศาสนา คือ ความหลุดพ้นเป็นอิสระ เข้ากับหลักที่พูดสุดท้ายว่า จะต้องพัฒนาตนให้พึ่งตนได้ และเป็นอิสะ จนกระทั่งในที่สุดเป็นอิสระทางจิตใจและปัญญา
เราพึ่งคนอื่น เช่น พึ่งพระพุทธเจ้า ก็เพื่อทำตัวเราให้พึ่งตนเองได้ พระพุทธเจ้าช่วยให้เราพึ่งตนเองได้นั่นเอง จุดหมายก็คือพึงตนเองได้เป็นอิสร ะเพราะฉะนั้นหลักพระพุทธศาสนาจึงมาถึงแก่นแท้ที่สูงสุด คือ วิมุตติ ความหลุดพ้นเป็นอิสระ


ที่มาของข้อมูล : หนังสือ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา (พระธรรมปิฎก ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักพระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด ได้ตรัสรู้สัจธรรม มีพระคุณสมบัติสมบูรณ์ทุกประการการที่ทรงมีพระคุณสูงเลิศอย่างนั้นได้ ก็เพราะได้ทรงฝึกพระองค์ ดังที่เรียกว่าทรงบำเพ็ญบารมีมากมายจนเต็มบริบูรณ์ เราจึงตั้ง "พุทธะ" ขึ้นมาเป็นแม่แบบว่า ดูสิ มนุษย์ผู้ฝึกดีถึงที่สุดแล้ว พัฒนาดีแล้ว จะมีปัญญารู้สัจจธรรม บริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นอิสระ อยู่เหนือโลกธรรม มีความสุข มีชีวิตที่ดีงามมีคุณธรรมความดีงามที่สมบูรณ์ เป็นพี่พึ่งของชาวโลก เลิศประเสริฐ ขนาดนี้
สุดยอดของมนุษย์คือ
"พุทธะ"
แก่นแท้ของธรรมชาติคือ
"ธรรมะ"
จุดหมายของสังคมคือ
"สังฆะ"
เพราะฉะนั้น หลักพระรัตนตรัย ก็คือหลักอุดมคติ ที่เป็นจุดหมาย เป็นอุดมการณ์เป็นหลักการ
สำหรับชาวพุทธ ซึ่งจะต้องยึดถือว่า
๑. เตือนใจเราให้ระลึกถึงศักยภาพของตัวเอง และให้ปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนาตนเองให้เป็นอย่าง พุทธะ
๒. เตือนใจให้ระลึกว่า การที่จะพัฒนาตนให้สำเร็จได้นั้น ต้องรู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักความจริงของกฏธรรมชาติ คือ ธรรมะ
๓. เตือนให้ระลึกว่า เราแต่ละคนจะร่วมอาศัยและร่วมสร้างสังคมอุดมคติ ด้วยการมี/เป็น กัลยาณมิตรและเจริญงอกงามขึ้นในชุมชนแห่งอารยชนหรืออริยบุคคล ที่เรียกว่า สังฆะ

นี่คือ หลักพระรัตนตรัย

ที่มาของข้อมูล : (จากหนังสือ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น
พระธรรมปิฎก(ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักธรรมอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (อ.วศิน อินทสระ)

หัวใจพระพุทธศาสนา

ประมวลหลักธรรมอันเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไปด้วย หลักธรรมดังกล่าว คือ อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท ความไม่ประมาท พระพุทธโอวาท ๓ ข้อ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น และความหลุดพ้น ได้เขียนไว้อย่างสั้นๆ พอเป็นแนวทาง

อริยสัจ นั้นเป็นหลักเหตุผลที่พิสูจน์ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริงมรรคมีองค์ ๘ (ส่วนหนึ่งของอริยสัจ) เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ละเอียดอ่อน และสูงเยี่ยม

ไตรลักษณ์ ช่วยให้เรามองเห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริงไม่หลงงมงายอยู่กับความลวงของ สิ่งที่ปรากฏภายนอก อันเป็นมายาแห่งโลก ความยึดมั่นในตัวตนอย่างมืดบอดซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งอกุศลนั้น จะถูกกร่อนรากให้คอดกิ่วไปทีละน้อย เมื่อมาพิจารณาไตรลักษณ์ด้วยปัญญาอันชอบ เป็นทางลัดไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งดวงจิตที่เคยหมักหมมมานาน

ปฏิจจสมุปบาท เป็นศูนย์กลางแห่งคำสอนอันถูกต้องทั้งหลายช่วยให้เรามองเห็นโลกและชีวิตใน ฐานะเป็นสิ่งอาศัยกัน เกิดขึ้นชั่วคราวตามเหตุปัจจัย ช่วยให้เรามองเห็นเรือน คือโครงสร้างแห่งชีวิตทั้งหลัง พร้อมทั้งเครื่องประกอบอันให้สำเร็จเป็นเรือน ไม่ใช่เห็นเพียงผิวเผินภายนอกเท่านั้น เป็นมงกุฎเพชรแห่งความรู้และความเข้าใจอันถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาชีวิตอันลึก ซึ้งละเอียดอ่อน ถึงกับได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม" มีความหมายเท่ากับธรรมทั้งหมดของพระองค์

ความไม่ประมาท นั้น พระศาสดาตรัสว่า เป็นมูลแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย กุศลทั้งหลายรวมลงในความไม่ประมาท มีความไม่ประมาทเป็นยอด ทรงสอนให้พุทธบริษัทสร้างความไม่ประมาทคือ การรักษาจิตด้วยสติอยู่เสมอ เมื่อเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท ย่อมไม่หวาดหวั่นแม้ต่อความตายที่จะมาถึงข้างหน้า

พระพุทธโอวาท ๓ ข้อ คือเว้นชั่ว ทำดีและทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นกล่าวโดยองค์ธรรมก็คือ ศีล สมาธิและปัญญานั่นเอง จะเว้นชั่วก็ต้องอาศัยศีล จะทำดีก็ต้องอาศัยความมั่นคงแห่งจิตใจ และจะบริสุทธิ์แท้จริงก็ต้องอาศัยปัญญา

ความไม่ยึดมั่นถือมั่นและความหลุดพ้น (วิมุตติ) ความหลุดพ้นถือว่าเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เพราะคำสอนทั้งปวงมุ่งไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ เสมือนน้ำในมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม ความหลุดพ้นนี้ย่อมมีได้เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นปฏิปทาแห่งความหลุดพ้น

ที่มาของแหล่งข้อมูล : หลักธรรมอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (อ.วศิน อินทสระ)

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

คำสอนจากหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร


"การทำสมาธิแบบบริกรรม"

การบริกรรม ทำให้จิตเป็นหนึ่ง
จิตเป็นหนึ่ง ทำให้เกิดความสงบ
ความสงบ ทำให้จิตมีพลัง
จิตมีพลัง ทำให้มีสติระลึกรู้
มีสติระลึกรู้ ทำให้เกิดสติปัญญา
มีสติปัญญา ทำให้รู้ทันอารมณ์
การรู้ทันอารมณ์ ทำให้จิตเป็นกลางได้

พระเทพเจติยาจารย์

(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)


วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน

การตำหนิติเตียนผู้อื่น
แม้เขาจะผิดจริงหรือไม่ผิด
ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
และเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์
เพราะฉะนั้นควรพิจารณาตัวเองจะดีกว่า




วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สมาธิ และ ประโยชน์ของการทำสมาธิ

สมาธิ คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว (เอกัคคตารมณ์)
สมาธิธรรมชาติ คือ สมาธิที่ได้จากการหลับนอน การพักผ่อน การมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นการอ่านหนังสือ เป็นต้น
สมาธิที่สร้างขึ้น คือ สมาธิที่ได้จากการตั้งใจที่จะทำสมาธิอย่างมีระบบและมีวิธีปฏิบัติอย่างมีขั้น ตอน ได้แก่การเดินจงกรม และ การนั่งสมาธิเพื่อกำหนดจิตให้เป็นหนึ่งเดียว นับตั้งแต่วินาทีที่เริ่มนึกคำบริกรรมก็ถือว่าได้เป็นสมาธิแล้ว
ประโยชน์ของการทำสมาธิ
1) หลับสบายคลายกังวล
2) กำจัดโรคภัยไข้เจ็บ
3) สมอง และ ปัญญาดี
4) รอบคอบในการทำงาน
5) ระงับความร้ายกาจ
6) บรรเทาความเครียด
7) มีความสุขพิเศษ
8) จิตใจอ่อนโยน
9) กลับใจได้
10) เวลาสิ้นลมพบทางดี
11) เจริญวาสนาบารมี
12) เป็นกุศล

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตารางบันทึกการปฏิบัติวิทิสาสมาธิ



ตารางบันทึกการปฏิบัติวิทิสาสมาธิ
เป็นตารางบันทึกขนาดเล็กสามารถพกพาติดตัวได้สะดวก เพื่อจะได้เป็นการเตือนตัวเองในการที่จะปฏิบัติสมาธิเพราะผลที่ได้จากการปฏิบัติสมาธินั้น จะต้องเกิดจากการทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ